ใบอนุญาตท่องเที่ยว 11/11921
instagram facebookline    TEL : 02-0775954, 063-9162264
Sanja Matsuri (ซันจะ มัตสึริ)
Sanja Matsuri (ซันจะ มัตสึริ) เป็น 1 ใน 3 เทศกาลใหญ่ของศาสนาชินโตที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว อีกสองเทศกาลก็คือ Kanda Matsuri และ Sanno Matsuri แต่เหตุหนึ่งที่ทำให้เทศกาลนี้โด่งดังไปทั่วโลกก็อาจจะเพราะเป็นงานที่จัดขึ้นในย่าน Asakusa (อะซะคึสะ) ที่นักท่องเที่ยวค่อนข้างจะรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว 

Sanja Matsuri จะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม หลักๆ แล้วเทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อฉลองให้กับผู้ที่ถือว่าทำให้เกิดวัดเซนโซจิและศาลเจ้าอะซะคึสะขึ้นมา 

 

ตามตำนานเล่าว่าเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 628 มีชาวประมงที่เป็นพี่น้องกันสองคนคือ Hinokuma Hamanari และ Hinokuma Takenari ทอดแหไปติดพระพุทธรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมทองคำ ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า Kannon ขณะที่กำลังหาปลากันอยู่ในแม่น้ำสึมิดะ (Sumidakawa) เมื่อเศรษฐีชื่อว่าHajino Nakatomo ได้ยินเรื่องนี้เข้า ก็ไปพบกับชาวประมงทั้งสอง เนื่องจากเขารู้ว่านี่เป็นพระพุทธรูปสำคัญในศาสนาพุทธ ภายหลังพวกเขาทั้งสามก็เกิดความเลื่อมใสและหันมาอุทิศตนให้กับศาสนาพุทธอย่างจริงจัง โดยนำพระพุทธรูปดังกล่าวไปประดิษฐานไว้ที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านอะซะคึสะ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อวัดเซนโซจิ หรือ Asakusa Kannon ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงโตเกียว ภายหลังโชกุน Tokugawa Iemitsu ได้สั่งให้สร้างศาลเจ้าขึ้นในบริเวณวัดเซนโซจิ เพื่ออุทิศให้กับบุคคลทั้งสาม (ชาวญี่ปุ่นเขามักจะยกย่องผู้ที่ทำคุณงามความดีมากๆ และล่วงลับไปแล้ว เสมอเทพหรือ Kami) ทำให้ที่นี่มีทั้งวัดในศาสนาพุทธ และศาลเจ้าในศาสนาชินโตอยู่ในบริเวณเดียวกัน 

 


เทศกาล Sanja Matsuri นี้ เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 บางครั้งก็เรียก Kannon Matsuri หรือAsakusa Matsuri ส่วนชื่อ Sanja Matsuri และรูปแบบของพิธีการต่างๆ ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันมีขึ้นเมื่อเข้าสมัยเอโดะแล้ว 

ศูนย์รวมของงานจะอยู่ที่ศาลเจ้าอะซะคึสะ และพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีของสัปดาห์ที่จัดงาน Sanja Matsuri ซึ่งเป็นพิธีเสมือนการอัญเชิญเทพเจ้าขึ้นสู่เกี้ยวหรือศาลเจ้าจำลองที่เรียกว่า “mikoshi”โดยเทศกาลนี้จะมีจุดเด่นอยู่ที่การแห่ mikoshi หลัก 3 หลังของศาลเจ้าอะซะคึซะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเทศกาลนั่นเอง (san = 3 และ ja = ศาลเจ้า) 

 


วันต่อมา (วันศุกร์) จะมีผู้คนมากมายแต่งกายตามธรรมเนียมชาวญี่ปุ่นออกมาร่วมขบวนแห่ เล่นดนตรี ตีกลองไทโกะ ร้องเพลง เต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ศิลปินก็ได้ออกมาโชว์ของ เกอิชาก็ออกมาเดินอวดความงามสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ สมาชิกกลุ่มยากุซ่าก็ออกมาอวดลายสักกันเต็มที่ ถือว่าเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองกันเลยทีเดียว บริเวณบล็อก 19 ของถนน Yanagi และถนน Nakamise-dori จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่กระตือรือร้นกันมาร่วมงาน

ส่วนวันเสาร์ก็จะมี mikoshi ขนาดต่างๆ กันกว่า 100 หลัง จากทั้ง 44 เขตของย่านอะซะคึซะมารวมตัวกันที่ประตู Kaminarimon ประตูใหญ่ด้านหน้าสุดก่อนที่จะเข้าไปยังวัดเซนโซจิ ก่อนที่จะถูกแห่ผ่านถนน Nakamise-dori ตรงเข้าไปยังวัดเซนโซจิถึงประตู Hozomon และหลังจากแสดงความเคารพพระพุทธรูปเจ้าแม่กวนอิมทองคำแล้วก็แห่ mikoshi ไปยังศาลเจ้าอะซะคึสะที่อยู่ใกล้ๆ กัน ทำพีธีกรรมขอพรจากเทพเจ้า แล้วก็แห่ mikoshi ต่อไปทั่วย่านอะซะคึสะ 

 

วันสุดท้าย (วันอาทิตย์) ถือเป็นไฮท์ไลน์ของงาน เพราะ mikoshi หลักทั้งสามของศาลเจ้าอะซะสะ จะถูกแห่ผ่านถนน Nakamise-dori  ไปยังประตู่ Kaminarimon แต่เช้า จากนั้นจะแยกย้ายกันแห่ไปจนครบทั้ง 44 เขตของย่านอะซะคึสะ ก่อนจะกลับมาที่ศาลเจ้าอะซะคึสะอีกครั้งเพื่อทำพิธีใหญ่ปิดเทศกาลในคืนนั้น 

mikoshi หลักทั้งสามหลังมีความโดดเด่นมาก ถูกออกแบบและประดับประดาด้วยทองคำเปลวอย่างสวยงาม มีน้ำหนักหลังละกว่าหนึ่งตัน แต่ละด้านของคานหามต้องใช้คนกว่า 40 คน รวมทั้งจะต้องมีคนยืนอยู่บนคานหาม คอยบอกสัญญาณไม่ให้ mikoshi เอียงหรือไปชนอะไรให้แตกหักเสียหาย ซึ่งกว่าจะจบงาน mikoshi แต่ละหลังต้องมีคนช่วยกันหามสลับกันไปกว่า 500 คน 

 


และเนื่องจาก Sanja Matsuri เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากของศาสนาชินโตซึ่งจัดขึ้นในกรุงโตเกียว จึงไม่แปลกที่ทุกปีจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานตลอดทั้งสามวันมีมากถึงกว่าสองล้านคน...  

เรื่องโดย : The 8th Ronin www.marumura.com 
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : http://en.wikipedia.org/wiki/Sanja_Matsuri
©2014 hermesholidaytravel.com All rights reserved    Power By : applezeed.com